สารจากประธานกรรมการบริษัท

เรียน ท่านผู้ถือหุ้นทุกท่าน

ในหลายปีที่ผ่านมาทุกประเทศทั่วโลกต่างรับรู้และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทั้งจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก, การละลายของธารน้ำแข็ง และการเปลี่ยนแบบแผนของอากาศที่รุนแรงขึ้น สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและอุตสาหกรรม แต่ยังมีผลกระทบอย่างมากต่อระบบนิเวศ เศรษฐกิจ ชีวิตและความเป็นอยู่ของทุกคนทั่วโลก ความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากหาศได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากประเทศมหาอำนาจทั่วโลก ซึ่งมีบทบาทในการนำไปสู่การกระทำเชิงรุกและการตั้งนโยบายต่างๆ เพื่อลดผลกระทบต่อสภาพอากาศ รวมถึงการจัดประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 หรือ COP28 เป็นเวทีให้ผู้นำและตัวแทนรัฐบาลหารือกัน เพื่อหาทางเตรียมความพร้อมและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกในอนาคต ซึ่งถือเป็นการเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการกระชับความร่วมมือระหว่างชาติเพื่อต่อสู้กับวิกฤติโลกร้อน หนึ่งในมาตรการที่ออกแบบมาเพื่อช่วยต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่สหภาพยุโรป (EU) นำมาใช้ โดยสหภาพยุโรปถือเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ดังนั้นมาตรการนี้จะถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความเท่าเทียมของต้นทุนราคาคาร์บอนระหว่างสินค้าภายในสหภาพยุโรปที่มีการบังคับใช้ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (EU’s Emission Trading System : EU ETS) กับสินค้าที่ผลิตภายนอกสหภาพยุโรป ผ่านการปรับราคาคาร์บอนเพื่อเร่งให้ประเทศคู่ค้าของสหภาพยุโรปจำเป็นต้องให้ความสำคัญและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง รวมถึงยังเป็นการสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาด การพัฒนากระบวนการให้มีประสิทธิภาพใช้พลังงานสะอาด โดยมาตรการนี้เป็นกลไกที่จะมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงวิธีการที่โลกจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจเพื่อลดการปล่อยมลพิษและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบการผลิตที่ยั่งยืนมากขึ้น ผ่านการกระจายความรับผิดชอบในการป้องกันการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศไปยังประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมุ่งมั่นระดับโลกในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เป็นอย่างดี

ในส่วนของธุรกิจในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการกล่าวถึงแนวคิดหนึ่งกันอย่างกว้างขวางคือ เศรษฐกิจชีวภาพสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นการบูรณาการระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ, การส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีความรับผิดชอบ, และการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ รวมถึงเศรษฐกิจ, สังคม, และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถที่จะช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาทิเช่น การส่งเสริมการใช้ทรัพยากรชีวภาพและการเกษตรที่ยั่งยืนช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นปอดของโลก ดูดซับ CO2 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการใช้พลังงานหมุนเวียน การกระตุ้นนวัตกรรมในเทคโนโลยีที่ยั่งยืน ทั้งการพัฒนาวัสดุทดแทนและเทคโนโลยีการจัดการขยะ รวมถึงการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งช่วยลดของเสียและส่งเสริมการใช้วัสดุอย่างมีประสิทธิภาพ

ในส่วนของบริษัท สากล เอนเนอยี จำกัด (มหาชน) “บริษัทฯ” ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินการด้านพลังงานสะอาดมาโดยตลอดหลายสิบปี โดยการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ให้ความสำคัญทั้งในเรื่องของ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม รวมถึงสังคม โดยการเติบโตของบริษัทฯ จะต้องควบคู่ไปพร้อมกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและสังคมตลอดไป ดังเช่นธุรกิจสถานีก๊าซธรรมชาติหลักโดยเอกชน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทฯ ด้วยการให้บริการบรรจุก๊าซธรรมชาติ NGV ซึ่งถือเป็นพลังงานที่สะอาดกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบดั้งเดิม อาทิเช่น น้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินล จากคุณสมบัติที่ปล่อย CO2 น้อยกว่า รวมถึงปล่อยสารพิษและมลพิษทางอากาศน้อยกว่า ซึ่งมีผลต่อทั้งสุขภาพของประชาชนและคุณภาพทางอากาศ ต่อมาด้วยธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลแม่กระทิง ที่ถือเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาด เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิลเดิม อาทิเช่น ถ่านหิน และน้ำมัน เนื่องจากมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษที่น้อยกว่า และธุรกิจบริหารจัดการของเสียหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นอันตราย โดยการคัดแยกและผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ RDF ถือเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจชีวภาพสีเขียว BCG Model ได้ชัดเจนผ่านหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของเศรษฐกิจหมุนเวียนและการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน อาทิเช่น การนำขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้อีกต่อไป มาเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงพลังงานเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ สำหรับการผลิตพลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อเทียบจากการใช้เชื้อเพลิงขยะ RDF แทนการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงลดการฝังกลบที่จะก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงการสนับสนุนนวัตกรรมในอุตสากรรมจัดการขยะและพลังงานให้มีการเติบโตยิ่งขึ้นไป ในส่วนของชีวเศรษฐกิจ ถึงแม้จะไม่ได้เป็นการจัดการโดยตรงในแง่ของพืชหรือสิ่งมีชีวิต แต่กระบวนการใช้ประโยชน์จากขยะสู่เชื้อเพลิงถือเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการทรัพยากรอย่างมีความรับผิดชอบอย่างยั่งยืน โดยในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงในอนาคตนี้ บริษัทฯ เล็งเห็นถึงประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่หลากหลายจากการก้าวเข้ามาดำเนินธุรกิจจัดการขยะ จึงมีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาธุรกิจเกี่ยวกับการจัดการขยะให้เติบโตยิ่งขึ้นไป พร้อมกับการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน เพิ่มคุณภาพชีวิตด้วยการขจัดปัญหาขยะให้กับประชาชน รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลและรักษาโลกใบนี้ด้วยการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจพลังงานสะอาด

ในนามตัวแทนของบริษัทฯ ขอขอบคุณทุกท่านผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และประชาชนทุกท่านเป็นอย่างสูงที่ได้ให้การสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือในการทำงานของบริษัทฯ เป็นอย่างดี สุดท้ายนี้ บริษัทฯ ขอยืนยันและให้ความเชื่อมั่นว่าจะบริหารงานภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี และการจัดการที่ดีเพื่อ ความยั่งยืนของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่องตลอดไป และขอถือโอกาสนี้ขอบคุณคณะกรรมการบริษัท คณะผู้บริหาร พนักงาน และบุคลากรเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ทุกท่านที่ร่วมมือร่วมใจปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถ และรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเองมาเป็นอย่างดี ในปีต่อไปนี้พวกเราทุกคนจะยังคงร่วมมือร่วมใจกันสร้างการเติบโตขององค์กร ควบคู่ไปกับการสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนตลอดไป

 

 

ศาสตราจารย์กิตติคุณ  ดร.ดิเรก  ลาวัณย์ศิริ
ประธานกรรมการบริษัท